โครงการ รักษ์ช้างป่า

ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย แต่จากความสำเร็จในการอนุรักษ์ช้างป่า กลับนำพาไปสู่ปัญหาใหม่ คือประชากรช้างป่าที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มออกนอกพื้นที่ป่าเพื่อหาอาหาร เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

จากปัญหาดังกล่าว เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน ช้างที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ที่เคยอยู่บนธงชาติ กลายเป็นดาวร้ายในสายตาชาวบ้าน เกิดความรู้สึกเกลียดชัง และการปะทะกัน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ทั้งช้างและคน

การควบคุมประชากรช้างป่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การกำจัดช้างป่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ การจำกัดบริเวณหากินของช้างป่า มีค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว แต่ไม่การันตีผลลัพธ์

ทั้งหมดนี้ มาจากมุมมองที่เห็นช้างป่าเป็นปัญหา และพยายามแก้ปัญหาจากมุมมองนี้ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ผล แต่หากเราปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยมองว่าช้างเป็นโอกาสในการสร้างช่องทางเชิงธุรกิจ จึงจะมองเห็นแสงสว่างของปัญหาความขัดแย้งนี้

โครงการ “รักษ์ช้างป่า” เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ Nature School ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน โดยการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน จากมุมมองที่ว่า “ช้างป่าคือโอกาส” ในการสร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ช้างป่าไม่กิน สร้างช่องทางในการขายสินค้าที่เป็นมิตรกับช้างป่า และให้ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ทำให้การมีช้างป่าเข้ามาเดินอยู่ในชุมชน เป็นข้อดี ไม่ใช่ข้อเสีย และชีวิตช้างป่าเองยังได้รับการปกป้องดูแล


ปัญหา

  1. ช้างป่ารุกรานพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน
  2. พืชผลของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ชาวบ้านขาดรายได้ เกิดความรู้สึกเกลียดชังช้างป่า
  3. ความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชาวบ้านก่อตัวขึ้น และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
  4. เกิดการปะทะระหว่างช้างป่ากับคน นำไปสู่การเสียชีวิตทั้งคนและช้าง
  5. คนรุ่นใหม่ มองข้ามความสำคัญของช้างป่าเชิงระบบนิเวศ เห็นช้างป่าเป็นปัญหา

แนวทางในการแก้ปัญหา

  1. ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน ด้วยการหาทางออกให้กับปัญหาช้างป่าสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านและชุมชน และให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของช้างป่าเชิงระบบนิเวศ และนำเสนอหนทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และสร้างรายได้แบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับช้างป่า
  2. เพิ่มช่องทางการค้าขายผลผลิต และเพิ่มรายได้ ด้วยการเปิดคอร์สฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องทางเลือกทางการเกษตร ที่เป็นมิตรกับช้างป่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้า การตลาดออนไลน์
  3. ลดความรู้สึกเกลียดชังช้างป่าของเด็ก ที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากการรุกรานของช้างป่า ด้วยการฝึกอบรม ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของช้างป่าต่อระบบนิเวศ และความสำคัญของช้างป่าในฐานะสัญลักษณ์ของชาติไทย
  4. สร้างแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง โดยใช้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่สร้างรายได้มากกว่า และการมีช้างป่ายิ่งมาก ยิ่งเป็นประโยชน์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับช้างป่า เปลี่ยนมุมมองของชาวบ้านที่เห็นช้างป่าเป็นปัญหา ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจการท่องเที่ยว ผ่านการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การสร้างงานให้ชุมชน ต่อยอดจากการท่องเที่ยว เพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชน
  5. สร้างแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง ด้วยการรับรอง (endorsement) ให้กับสินค้าและบริการที่ผลิตโดยเกษตรกรและ ชาวชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และสร้างช่องทางด้านการตลาดให้กับสินค้าและบริการของชาวชุมชนด้วย และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการยอมรับ การตอบสนองจากสังคม และความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากทุกฝ่าย

กลุ่มเป้าหมาย

ชาวชุมชน เด็กและผู้ใหญ่ ในอำเภอกุยบุรีและอำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า


พื้นที่การดำเนินการ

อำเภอกุยบุรี และอำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์


ระยะเวลาดำเนินการ

ธันวาคม 2565 - พฤศจิกายน 2566


งบประมาณ

1,000,000 บาท


การประเมินผล

โครงการรักษ์ช้างป่า มีการประเมินเมื่อสิ้นสุดกิจกรรม และเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยการสำรวจความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า และสามารถสร้างช่องทางการตลาดให้กับสินค้าของชาวบ้านและชุมชน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถแสดงผลงานที่ได้จากการฝึกอบรม

ผลที่ได้รับจะถูกนำไปปรับปรุงโครงการ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้น และปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น