เสือโคร่ง

ความสมบูรณ์ของป่า

จากข่าวคราวอันน่าดีใจ เกี่ยวกับประชากรที่เพิ่มขึ้นของเสือโคร่งในป่าไทย Nature School อยากพาทุกคนมารู้จักกับเสือโคร่งที่พบในประเทศไทยกัน

เผ่าพยัคฆ์
เสือโคร่งที่พบในโลกปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 6 ชนิดพันธุ์ย่อย (subspecies) คือเสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ เสือโคร่งมลายู แต่เพราะการล่าอย่างหนัก และป่าที่ถูกรุกราน เสือสูญพันธุ์ไปแล้ว 3 ชนิดพันธุ์ย่อย คือเสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี

เสือโคร่งที่พบในประเทศไทย มี 2 ชนิดย่อย ส่วนใหญ่จะเป็นเสือโคร่งอินโดจีน และเสือโคร่งมลายู ที่พบทางภาคใต้ช่วงติดกับเขตแดนมาเลเซีย โดยเสือโคร่งอินโดจีนนั้น จากการศึกษาพบว่า มันบรรพบุรุษของเสือโคร่งทุกชนิด ก่อนที่สายพันธุ์เสือโคร่งจะแตกแขนง เมื่อประมาณ 108,000 - 72,000 ปีก่อน

ถิ่นเสือ
เสือโคร่งอินโดจีนพบได้ในไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียตนาม ไปจนถึงจีนตอนใต้ แต่เสือโคร่งอินโดจีนตัวสุดท้ายในจีนได้ถูกฆ่าตายอย่างน่าเสียดาย โดยชาวบ้านในปี 2552 ทำให้เราไม่พบเสือโคร่งอินโดจีนในจีนอีกเลย

เสือโคร่งอินโดจีนที่พบในประเทศไทย มีรูปร่างเหมือนเสือโคร่งทั่วไป แต่มีลายเส้นที่เล็กกว่าเสือโคร่งเบงกอล และขนาดลำตัวก็เล็กกว่าด้วย โดยตัวผู้มีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 2.7 เมตร หนักประมาณ 180 กิโลกรัม ตัวเมียจะตัวเล็กกว่าตัวผู้

เสือโคร่งโดยทั่วไปสามารถอยู่ได้ในหลากหลายสภาพป่า เช่น ป่าดิบชื้น, ป่าผลัดใบ แต่ป่าที่พวกมันจะอาศัยและดำรงเผ่าพันธุ์ได้นั้น ต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอ จากข้อมูลสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำพบว่า การครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่งตัวผู้ใช้พื้นที่ประมาณ 200 – 300 ตร.กม. ส่วนตัวเมียใช้พื้นที่หากินและเลี้ยงลูกประมาณ 30 – 80 ตร.กม. ขึ้นอยู่กับความชุกชุมของปริมาณเหยื่อในพื้นที่ หากเหยื่อมีน้อยพื้นที่หากินก็จะกว้างยิ่งขึ้น

พื้นที่ครอบครองของเสือโคร่งจะไม่มีการทับซ้อนกัน พวกมันชอบอาศัยและหากินอยูในป่าที่ใกล้แหล่งน้ำ ส่วนหนึ่งเพราะมีอาหารของเสืออยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ อย่างสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เช่น วัว ควายป่า และกระทิง และสัตว์ขนาดกลางอย่างกวางและหมูป่า

เสือโคร่งมีสีขนบนลำตัวตั้งแต่โทนแดงส้มไปยังเหลืองปนน้ำตาล ช่วงท้องจะเป็นสีขาวนวล ลำตัวมีลายพาดผ่านเป็นสีดำและเทาเข้ม (ลายพาดกลอน) ลวดลายของเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีความแตกต่างกัน ไม่มีตัวไหนมีลายซ้ำกันเลย สายของเสือจึงเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเหมือนลายนิ้วมือของคน

ยอดนักล่า
เสือโคร่งเป็นนักล่า เมื่อล่าเหยื่อได้แล้วมันมักจะกินเหยื่อจากบริเวณสะโพกก่อน หากกินไม่หมดก็จะนำไปซ่อน แล้วจะกลับมากินใหม่จนหมด พรานในอดีตจึงใช้นิสัยอันนี้ของเสือในการ “นั่งซาก” หรือนั่งดักยิงเสือที่หวนกลับมากินเหยื่อ เสือโคร่งยังเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำและว่ายน้ำเก่ง เคยมีรายงานว่ามันสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะและชายฝั่งทะเลได้ เสือตัวผู้จะแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยการใช้เล็บตะกุยดินหรือปัสสาวะรดต้นไม้ ในฤดูผสมพันธุ์เสือตัวผู้จะรับรู้ถึงความต้องการของเสือตัวเมีย จากเสียงร้องที่ดังขึ้นบ่อยขึ้น เมื่อได้ผสมพันธุ์แล้วเสือตัวผู้จะจากไป และอาจไปผสมพันธุ์กับเสือตัวเมียอื่น ๆ ได้อีก

เสือโคร่งตัวเมียจะตั้งท้องเป็นเวลา 3 เดือน และจะออกลูกครั้งละ 1–7 ตัว แต่ใช่ว่าลูกเสือจะรอดตายและเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ทุกตัว ลูกเสือที่ไม่แข็งแรงจะตายไป หรือแม่เสืออาจกินลูกด้วยถ้าหากปกป้องหรือเลี้ยงต่อไปไม่ได้ ตัวที่เหลือจะได้รับการเลี้ยงดูและฝึกสอนให้หาอาหาร เมื่อลูกเสือโตพอที่จะล่าเหยื่อได้เอง ก็จะแยกตัวออกไปหากินตามลำพัง

บ้านที่หายไป
ในภูมิภาคอินโดจีน รายงานของ IUCN ชี้ว่าเสือโคร่งอินโดจีนนับว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered status) จากการศึกษาในประเทศไทยโดย ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ให้เหตุผลการลดลงของจำนวนประชากรเสือโคร่ง 3 ปัจจัยหลักด้วยกันคือ - พื้นที่ป่าถูกทำลาย ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก - การล่า - จำนวนของเหยื่อลดน้อยลง

จากความเชื่อผิดๆ ว่าดีเสือหรืออวัยวะต่างเป็นยาอายุวัฒนะ ความนิยมในหนังเสือ และความเชื่อทางไสยศาสตร์ ทำให้เกิดความต้องการทางการตลาด มีการล่าเสืออย่างหนัก ส่งผลต่อประชากรเสือที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

ที่ประเทศเวียดนาม ปี พ.ศ. 2554 ประเมินกันว่าเหลือในธรรมชาติไม่ถึง 50 ตัว และในปี พ.ศ. 2559 มีการประกาศว่าอย่างเป็นทางการว่าเสือโคร่งสูญพันธุ์ไปแล้ว หลังจากที่สำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดแล้วไม่พบร่องรอยอีก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากเวียดนามยังมีเสือโคร่งเหลือรอดอยู่ ก็น้อยเกินกว่าจะฟื้นฟูจำนวนได้อีก

ในลาวที่ไม่มีรายงานการพบเสือโคร่งมานานหลายปี ส่วนในกัมพูชา ได้มีการยอมรับว่าเสือโคร่งอินโดจีนตัวสุดท้ายในจังหวัดมณฑลคีรีได้ถูกล่าไปแล้ว ปัจจุบัน จึงเหลือเสือโคร่งอินโดจีนเพียงในพม่าและไทยเท่านั้น

ช่วยกันดูแล
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณ 250 ตัวอาศัยอยู่ในผืนป่าสำคัญ ได้แก่ ผืนป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ และผืนป่าตะวันตกแนวเทือกเขาตะนาวศรี จำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นถึง 50% ในเวลา 7 ปี (2556-2563) ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูเสือโคร่ง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง จากความร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งรัฐและองค์กรต่างๆ

รักสัตว์ป่า มาร่วมกันเรียนรู้และช่วยกันอนุรักษ์ได้ที่ Nature School
#bkknatureschool #conservation #geniuskid

ขอขอบคุณข้อมูลจาก theaseanpost.com, Wikipedia, aseanews.it, thaipublica.org, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, wikipedia และภาพจาก กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, Shutterstock