ถุงของหิ่งห้อย-มีเรื่องราวมาจากความมานะบากบั่นในการเรียนของ “เชออิ้น” หนุ่มน้อยฐานะยากจนแต่ไฝ่ดี อยากเป็นจอหงวน แต่ความที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในเวลากลางวัน เชออิ้นจึงมีเวลาอ่านหนังสือแค่ช่วงกลางคืนเท่านั้น เพราะความยากจน เชออิ้นไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาจุดโคมไฟ เค้าจึงไปจับหิ่งห้อยมาใส่ถุงกระดาษ ใช้แทนโคมไฟอ่านหนังสือ จนต่อมาสอบจอหงวนได้ และกลายมาเป็นตัวอย่างของความพากเพียรที่ชาวจีนยกย่อง
ความจริงของแมลงตัวน้อย
หิ่งห้อยจริงๆ แล้วคือด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีแสงเรืองๆที่ก้น มีลำตัวยาวรี ตัวเต็มวัยของหิ่งห้อยเพศผู้มีปีกเสมอ ลำตัวยาว 4-25 มิลลิเมตร และเป็นตัวที่ปล่อยแสงเรื่องๆ บินไปบินมาหลอกล่อผู้หญิง เอ๊ย...ตัวเมีย
ส่วนเพศเมียมีทั้งชนิดที่มีปีกและชนิดไม่มีปีก ซึ่งมีลักษณะคล้ายหนอน มีปีกและมีลำตัวยาว บางชนิดอาจยาวถึง 100 มิลลิเมตร (10 ซม) หิ่งห้อยตัวเมียสามารถปล่อยแสงได้เช่นกัน
แสงแห่งรัก
แสงของ หิ่งห้อยเกิดจากขบวนการทางเคมี โดยในปล้องแสงของ หิ่งห้อยมีสาร ลูซิเฟอริน (Luciferin) ที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและได้รับพลังงาน เอทีพี (ATP: Adenosine Triphoshate) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ให้พลังงานในเซลล์ ทำให้เกิดแสงที่เรามองเห็นได้ในเวลากลางคืน
หิ่งห้อย มีอวัยวะที่สร้างแสงอยู่ที่ปล้องปลายท้อง ซึ่งมีอยู่ 2 ปล้องในเพศผู้ และ 1 ปล้องในเพศเมีย ตัวอ่อนหิ่งห้อยมีลักษณะคล้ายหนอน และสามารถสร้างแสงได้ช่วงปลายท้อง ไข่ของหิ่งห้อยบางชนิดก็มีแสง
ชีวิตชั้นสั้น ความรักชั้นยาว
หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อเป็นสื่อให้คู่ของมันมาผสมพันธุ์ โดยการกระพริบแสงของหิ่งห้อยมีอยู่ 2 แบบคือกระพริบแสงพร้อมกันและไม่พร้อมกัน จังหวะการกระพริบแสงของหิ่งห้อย ใช้ในการจำแนกชนิดของหิ่งห้อยได้ และพวกมันสร้างแสงได้ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน
วงจรชีวิตที่แบ่งออกเป็น4ระยะคือ
1.ระยะไข่จะใช้เวลาประมาณ1-4สัปดาห์
2.ระยะตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวหนอน ใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน เป็นช่วงชีวิตที่นานที่สุดของมัน
3.ระยะดักแด้ประมาณ 1-2 สัปดาห์
4.ระยะตัวเต็มวัยจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 1 เดือน
ระยะที่เป็นหนอน หิ่งห้อยจะกินอาหารจำพวกหอยฝาเดียว ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็กๆ หอยที่เป็นอาหารของหิ่งห้อยมีหลายชนิด และหอยพวกนี้เป็นพาหะของพยาธิชนิดต่างๆ เช่น พยาธิใบไม้ในเลือด หรือพยาธิใบไม้ในตับของคนและสัตว์ หิ่งห้อยจึงมีหน้าที่อีกอย่างในระบบนิเวศน์คือการกำจัดไม่ให้พยาธิแพร่ระบาดได้
หิ่งห้อยตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร กินแต่น้ำหรือน้ำค้าง ต้นลำพูเป็นพืชที่มีขนที่ใบ จึงมีน้ำค้างเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หิ่งห้อยชอบไปเกาะต้นลำพู
หิ่งห้อยเมื่อผสมพันธุ์แล้ววางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ตามใบพืชหรือน้ำหรือตามดินที่ชื้นแฉะ ไข่ฟักออกเป็นตัวหนอนซึ่งมีอยู่ 4-5 วัย จึงเข้าดักแด้แล้วออกมาเป็นตัวเต็มวัย วงจรชีวิตของหิ่งห้อยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3-12 เดือน แล้วแต่ชนิด
ในเวลากลางวัน หิ่งห้อยหลบซ่อนตัวอยู่ตามพงหญ้าหรือวัชพืชในที่ชื้นแฉะ หรือหลบตามกาบไม้ซอกไม้ต่างๆ ในเวลากลางคืนจึงบินออกมาจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ ตัวหนอน
ดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อม หิ่งห้อยมีแหล่งอาศัยแตกต่างกันไปตามชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ชุ่มชื้นและสะอาด ไม่มีมลพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น ตามทุ่งนาและบ่อน้ำตามชนบท บางชนิดอยู่ตามดินในป่าและตามป่าชายเลน หิ่งห้อยจึงเป็นดัชนีวัดความสะอาดของสิ่งแวดล้อม หากปริมาณของหิ่งห้อยลดน้อยลงไป ก็จะบ่งชี้ถึงมลพิษที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่นั้นๆ
ต้นไม้ที่ หิ่งห้อยชอบเกาะกระพริบแสง ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่มีใบโปร่ง ในธรรมชาติพบเกาะอยู่ตามต้นลำพู ต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นโพทะเล และต้นทิ้งถ่อน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thisiscolossal.com, Radim Schreiber , zip06.com และข้อมูลจาก Smithsonian