นกยูง

อัญมณีแห่งพงไพร

นกยูงเป็นนกที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง และนิสัยที่ชอบอยู่บนต้นไม้สูง ทำให้นกยูงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เลอค่า สูงศักดิ์ คนฮินดูนับถือนกยูงเป็นพาหนะของพระสุรัสวดี ชายาพระศิวะ และเป็นพาหนะของพระขันธกุมาร เทพแห่งสงครามอีกด้วย

ในไทย นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล และขนของนกยูงถูกนำมาใช้ในพิธีปัดเป่าสิ่งที่เป็นอัปมงคล

นกยูงแบ่งออกเป็น 3 ชนิดใหญ่คือ

  1. Indian peafowl นกยูงพันธุ์อินเดีย
  2. Green peafowl นกยูงเขียว นกยูงไทย
  3. Congo peafowl นกยูงพันธุ์คองโก

นกยูงที่พบในประเทศไทยเป็น Green peafowl หรือ นกยูงสีเขียว ซึ่งนับว่าเป็นนกในตระกูลไก่ฟ้าขนาดใหญ่ ที่พบในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนกยูงเขียวยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้อีก 3 ชนิดคือ

  1. P. m. muticus – นกยูงชวา หรือ นกยูงใต้ พบในชวา มาเลเซียตะวันตกจากทางเหนือไปทางใต้จนถึงรัฐเกอดะฮ์
  2. P. m. imperator – นกยูงอินโดจีน หรือ นกยูงเหนือ พบในพม่าจนถึงไทย ตอนใต้ของจีนและในอินโดจีน
  3. P. m. spicifer – นกยูงพม่า พบทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและบังคลาเทศ

นกยูงไทย พบได้ในถิ่นอาศัยที่หลากหลาย ทั้งในป่าไผ่ ป่าเบญพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า ในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ห่างจากการรบกวน และจะออกหาอาหารจำพวกแมลง เมล็ดพืช และสัตว์เล็ก ตามริมน้ำหรือลำธารในตอนเช้าตรู่จนถึงตอนบ่าย แล้วจึงบินกลับมาเกาะนอนอยู่บนยอดไม้สูง ซึ่งปกติจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ 2-6 ตัว

หล่อเลือกได้
นกยูงไทย ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียมาก อาจยาวได้ถึง 3 เมตร เมื่อวัดจากปลายมากถึงปลายหาง และหนักได้ถึง 5 กก. ในขณะที่ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า หนักหนึ่งกิโลขึ้นไป และยาวแค่เมตรเศษ

นกยูงไทย จะมีขนสีเขียว มีหงอนเป็นพู่สูง และมีแผ่นหนังที่หน้าสีฟ้าสลับสีเหลืองเห็นได้ชัดเจน ช่วงลำคอลงมาถึงหน้าอกมีขนที่ดูเหมือนเป็นลายเกล็ด ลำตัวมีขนสีเขียวและบนปีกเป็นประกายแววเหลือบสีน้ำเงิน และด้านข้างเป็นสีทองแดง ตัวผู้จะมีหางที่ยาวงดงาม ส่วนตัวเมียมีหางที่สั้นและมีสีออกน้ำตาลมากกว่า ไม่สวยงามเหมือนของตัวผู้

ยูงเยื้องย่างรำแพน
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน เป็นฤดูผสมพันธุ์ของนกยูง ในช่วงเดือนตุลาคม นกยูงตัวผู้จะมีหางงอกยาวเต็มที่ เพื่อใช้ในการจีบสาวและจะผลัดขนนี้ในเดือนกุมภาพันธ์

การเกี้ยวพาราสีกันของนกยูง เริ่มเมื่อนกยูงตัวเมียหากินเข้าไปดินแดนของนกตัวผู้ ซึ่งนกยูงตัวผู้ได้มีการทำลานรำแพนเอาไว้ ตัวผู้จะร่วมเข้าไปหากินในฝูงด้วย นกยูงตัวผู้จะเต้นรำที่เราเรียกว่า “รำแพน” แข่งกับตัวผู้ตัวอื่นๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจของตัวเมีย กางปีกสองข้างออกพยุงลำตัว ชูคอขึ้นแล้วย่างก้าวเดินหมุนตัวไปรอบ ๆ ตัวเมีย การรำแพนหางจะใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที ซึ่งนอกจะใช้ในการจีบตัวเมียแล้ว การรำแพนยังเป็นการประกาศอาณาเขตของตัวผู้อีกด้วย

ในขณะที่ตัวเมียเองก็มีการรำแพนหางน้อยๆบ้าง เพื่อกีดกันตัวเมียตัวอื่นๆออกจากตัวผู้ที่นางสนใจ หากตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะย่อตัวลงให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์

สร้างรังรัก
หลังการผสมพันุ์ ตัวเมียจะเริ่มทำรังบนพื้นดินและรองรังด้วยเศษใบไม้ ก่อนจะเริ่มวางไข่เลี้ยงลูก แม่นกจะเป็นฝ่ายกกไข่จนลูกฟักและจะอยู่กับแม่จนอายุประมาณ 6 เดือน - 1 ปี

แหล่งศึกษานกยูงในประเทศไทย
The Prairie Science Class: A Model for Re-Visioning Environmental Education within the National Wildlife Refuge System

ข้อมูล: ฐานที่มั่นสุดท้ายนกยูงไทย, Wikipedia, Smithsonian
credit ภาพ todaysbird.tumblr.com, zooinstitutes.comม Zooinstitute , https://animalia.bio/, Dr Surendra Pathak (Burmese peafowl), Jean-Luc BARON (IndoChinese peafowl)